กรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคของคณะกรรมาธิการเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชีย-แปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – UNESCAP) ซึ่งได้รับอาณัติให้เป็นผู้ประสานงานของโครงการระดับภูมิภาคของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและสังคมของระบบสหประชาชาติ
หลายปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ได้รับขนานนามว่าเป็น “เจนีวาแห่งเอเชีย”และไทยกลายเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคสำหรับระบบสหประชาชาติในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ดังนั้น ระบบสหประชาชาติในไทย ซึ่งมีขนาดใหญ่โตและซับซ้อนเป็นพิเศษ จึงประกอบด้วยหน่วยงานของสหประชาชาติที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 28 หน่วยงานหรือโครงการและองค์การที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอาณัติกับระดับภูมิภาคหรืออนุภูมิภาคเป็นหลักและมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ
ทีมงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNCT) ประกอบด้วยหน่วยงานและโครงการเหล่านั้นที่มุ่งเน้นภารกิจสำหรับไทยในระดับสูงหรือโดยเฉพาะ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) และองค์การสากลเพื่อการย้ายถิ่น (International Organization for Migration – IOM) ซึ่งแม้ว่าเป็นองค์กรพันธมิตร ก็ได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของ UNCT เนื่องจากความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับงานของหน่วยงานของสหประชาชาติ
หน่วยงานของ UNCT ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศ (UN Resident Coordinator – UNRC)
ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศ (UNRC)
UNRC ได้รับการแต่งตั้งในประเทศกำลังพัฒนาโดยเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ และรับผิดชอบในการประกันว่ามีการประสานการทำงานและความร่วมมือในระบบสหประชาชาติและผู้บริจาครายอื่น ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ในแต่ละประเทศ UNRC มีหน้าที่ส่งเสริมให้กิจกรรมของสหประชาชาติมีการผสานกันอย่างกลมกลืน และสนับสนุนวาระโลกของสหประชาชาติ ปกติ UNRC ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ประสานงานมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติด้วยในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน ฉะนั้น จึงรับผิดชอบในการประสานงานการตอบสนองระดับประเทศต่อวิกฤติด้านมนุษยธรรม
งานของ UNRC ขับเคลื่อนด้วยกลไกการประสานงานอันหลากหลาย ซึ่งเกี่ยวพันกับหน่วยงานสมาชิกของ UNCT และออกแบบเพื่อส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน กลไกเหล่านี้ประกอบด้วยการประชุม คณะทำงาน คณะกรรมการ และหน่วยงานดำเนินโครงการ ดังรายละเอียดที่อธิบายด้านล่าง
บทบาทของ UNRC ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยสนับสนุนระหว่างหน่วยงาน (Inter-Agency Support Unit) ซึ่งให้ความช่วยเหลือภายในองค์กร ด้านการจัดการกระบวนการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และด้านการขับเคลื่อนกลไกการประสานงาน
ทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทย
UNCT ประจำประเทศไทยมีฐานะที่พิเศษ ทีมประเทศไทยได้รับประโยชน์จากสภาพการทำงานที่มีเจ้าหน้าที่ทำงานใกล้ชิดกันและประสบการณ์ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานจำนวนมากที่มีโครงการระดับชาติและอนุภูมิภาคอันหลากหลาย ด้วยวิถีแบบนี้ การสื่อสารและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญๆ จึงสัมฤทธิ์ผลง่ายขึ้นจากระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่สูงขึ้น
กลไกความร่วมมือจำนวนหนึ่งส่งเสริมการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการประสานงานและการปฏิบัติงานระดับประเทศ ด้วยเหตุนี้ วาระการปฏิรูปสหประชาชาติสำหรับไทยจึงเคลื่อนไปข้างหน้าได้
การประชุมประสานงานระหว่างหน่วยงาน
การประชุมหัวหน้าหน่วยงานและทีมประเทศทั้งหมด (รวมทั้งการประชุมประสานงานระดับภูมิภาค ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ UNESCAP) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการประสานงานระหว่างหน่วยงานของระบบสหประชาชาติในไทย รวมทั้งระดับอนุภูมิภาคและภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกโดยรวม การประชุมเป็นเสมือนเวทีสำหรับการหารือของหัวหน้าของหน่วยงานของสหประชาชาติเกี่ยวกับกิจกรรมที่ดำเนินร่วมกันและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของโครงการของหน่วยงานแต่ละโครงการ ด้วยกระบวนการจัดเวทีอภิปรายระหว่างหน่วยงาน หัวหน้าหน่วยงานประเมินความจำเป็นกำหนดนโยบายและภารกิจเร่งด่วน และทบทวนความคืบหน้าของภารกิจในแง่การตอบสนองและการประสานงานระดับประเทศ
การประชุมประสานงานระดับภูมิภาค (Regional Coordination Meeting – RCM) ประจำปี ภายใต้การควบคุมของรองเลขาธิการใหญ่และเลขานุการคณะผู้บริหารของ UNESCAP มีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่มีสำนักงานในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับมอบอำนาจให้ดูแลกิจกรรมระดับภูมิภาค และหน่วยงานระดับภูมิภาคที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองอื่นในทวีปเอเชีย
การประชุมหัวหน้าหน่วยงาน (Heads of Agency Meetings – HOAM) รายไตรมาส และการประชุม UNCT รายเดือน ดูแลการทำงานของกลไกการประสานงานของสหประชาชาติอื่นๆ ด้วยการให้คำชี้แนะกับและติดตามตรวจสอบผลงานของคณะกรรมการบริหารงานทั่วไปและความมั่นคง (Administrative Management and Security Committee – AMS) และคณะทำงานเฉพาะเรื่องของสหประชาชาติเพื่อประเทศไทย (UN Thematic Working Groups for Thailand)
คลิกที่นี่ – ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับกลไกการประสานงานของสหประชาชาติในไทย
การประสานงานด้านการบริหารทั่วไป
คณะกรรมการบริหารงานทั่วไปและความมั่นคง (AMS) ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้โครงสร้างใหม่สำหรับการประสานงานระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติที่ได้รับอนุมัติเมื่อเดือนเมษายน 2543 เป็นเวทีอภิปรายเกี่ยวกับวิธีการขยายความร่วมมือและการประสานงานที่ประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ด้วยการปรับระบบการทำงานให้กลมกลืนและการเปลี่ยนมาใช้บริการ สำนักงาน และระเบียบปฏิบัติงานร่วมกันมากขึ้น เป้าหมายของ AMS คือ จัดให้มีระบบที่บริหารงานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพเพื่อให้การบริการมีคุณภาพ และส่งเสริมและเอื้อให้พนักงานต่างมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน คณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นตามแนวทางของ AMS ประกอบด้วยกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการฝึกอบรม นอกจากนี้ AMS ยังเป็นเวทีอภิปรายประเด็นด้านความมั่นคงในระดับปฏิบัติงาน ในส่วนนี้มีคณะอนุกรรมการสองคณะ ได้แก่ ทรัพยากรบุคคลและการจัดซื้อจัดจ้าง
โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน
มีโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสามโครงการที่โดดเด่นซึ่งจัดตั้งภายใต้ระบบสหประชาชาติในประเทศไทย ได้แก่ การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ การค้ามนุษย์ และเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ โครงการเหล่านี้มีการดำเนินงานที่สำคัญๆ โดยเฉพาะในแง่การส่งเสริมและการประสานงาน ทั้งสามโครงการมีความแตกต่างกันทั้งขอบเขตและกิจกรรม ถึงแม้ว่าโครงการเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ว่า การผสานความร่วมมือในประเด็นเหล่านี้จะเพิ่มประสิทธิผลของการสนับสนุนของระบบสหประชาชาติกับไทยและประเทศอื่นในภูมิภาค ขณะเดียวกัน โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ซึ่งเป็นการผนึกขุมกำลังและการจัดการทรัพยากรจากหน่วยงานสหประชาชาติหลายหน่วยงาน เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ขับเคลื่อนวาระร่วมของสหประชาชาติ
โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสหประชาชาติด้านการค้ามนุษย์ (UN Inter-Agency Project on Human Trafficking – UNIAP)
คณะทำงานเฉพาะเรื่อง
วิธีหนึ่งที่หน่วยงานสหประชาชาติใช้ประสานการทำงานในระดับปฏิบัติงานคือ การทำงานผ่านคณะทำงานเฉพาะเรื่อง (Thematic Working Groups – TWGs) ตลอดปี 2547 มี TWGs 13 คณะในระบบสหประชาชาติในไทย ส่วนใหญ่เน้นภารกิจระดับภูมิภาค
ช่วงครึ่งหลังของปี 2548 TWG ระดับภูมิภาคมีการปรับโครงสร้างและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานภายใต้การนำของ ESCAP ขณะเดียวกัน TWG ในระดับทีมประเทศก็ได้รับการปฏิรูปเพื่อทุ่มทรัพยากรให้กับภารกิจเร่งด่วนของCCA/UNPAF รูปแบบการจัดการลักษณะนี้ออกแบบเพื่อปูพื้นฐานไปสู่การออกแบบโครงการระดับประเทศที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการเน้นงานที่จำเป็นมากที่สุดก่อนและดำเนินการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ร่วมกันที่สำคัญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งเจตจำนงของการปฏิรูปของสหประชาชาติ
รายชื่อของคณะทำงานเฉพาะเรื่องของสหประชาชาติที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานและการติดตามตรวจสอบของกรอบภาคีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNPAF) พ.ศ. 2550-2554