View Surplus on Themeforest, our latest WordPress Theme. Or call us at 1-800-WPEXPLORER-ROCKS.

งานหลัก

งานหลักของสหประชาชาติ

เอกสารการประเมินสถานการณ์ทั่วไปของประเทศโดยสหประชาชาติ (UN Common Country Assessment – CCA) ที่ได้ร่างขึ้นเมื่อปี 2548 มุ่งเน้นความท้าทายในการพัฒนาที่สำคัญของไทย และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millenium Development Goals – MDGs) และเป้าหมาย MDGs ‘Plus’ (ด้านล่าง) และบ่งชี้ว่าอะไรคือความจำเป็นอันดับแรกและทิศทางในเชิงยุทธศาสตร์ภายใต้กรอบความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาร่วมกันแห่งสหประชาชาติ (Joint UN Development Assistance Framework) สำหรับปี 2550-2554 กำหนดมิติการพัฒนาหกหัวข้อให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ประเมินสถานการณ์ทั่วไปของประเทศในปัจจุบัน และคณะทำงานเฉพาะกิจที่รับผิดชอบแต่ละหัวข้อได้ประเมินและวิเคราะห์สาระต่างๆ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2548 หัวข้อเหล่านี้ประกอบด้วย

– การลดปัญหาความยากจนและการคุ้มครองทางสังคม
– การปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ
– สิ่งแวดล้อม
– การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์
– การอพยพและประชากรย้ายถิ่น
– การศึกษา

นอกจากนี้ CCA ยังได้บ่งชี้ความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์และประเด็นที่มีความกันหลายภาคส่วน ซึ่งเกิดขึ้นจากมิติการพัฒนาหกหัวข้อนี้ ดังนั้นการกำหนดมิติการพัฒนาจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่นำไปสู่การบ่งชี้ประเด็นทางยุทธศาสตร์สำหรับความร่วมมือในการพัฒนาของ UNCT ในไทยสำหรับ UNDAF พ.ศ. 2550-2554 ประเด็นเหล่านี้ประกอบด้วย

การให้ความสำคัญกับประชาชนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงและด้านที่มีความเปราะบาง
การพัฒนาขีดความสามารถของท้องถิ่น
การรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล

ขณะนี้ UNCT กำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการสะท้อนการวิเคราะห์ทั่วไปนี้ในแผนธุรกิจร่วมสำหรับช่วง พ.ศ. 2550-2554 เรียกว่ากรอบความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UN Development Assistance Framework – UNDAF) ซึ่งสอดคล้องกับรอบการวางแผนการพัฒนาระดับชาติ

 

เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ

เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) มีเอกลักษณ์อยู่ที่ความมุ่งมั่นในการบรรลุข้อผูกพันของปฏิญญาสหัสวรรษ (Millennium Declaration) ปฏิญญานี้ผ่านการรับรองมติ ณ การประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษในเดือนกันยายน 2543 ซึ่งร่วมลงนามโดยผู้นำโลกที่มุ่งมั่นจะขจัดความยากจนให้หมดไปจากโลกและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ระบบสหประชาชาติมีอาณัติในการสนับสนุนรัฐบาล ประชาสังคม และภาคเอกชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย MDGs ซึ่งประกอบด้วย 8 เป้าหมายใหญ่ 18 เป้าหมายย่อย และ 48 ตัวชี้วัด ในแต่ละเป้าหมายใหญ่ มีการตั้งเป้าหมายย่อยอย่างน้อยหนึ่งประการ เป้าหมายส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กรอบเวลาที่จะสิ้นสุดลงในปี 2558

– เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ
– ขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหยที่ร้ายแรง
– จัดให้ทุกคนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
– ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและให้หญิงมีสิทธิมีเสียงในสังคมมากขึ้น
– ลดอัตราการเสียชีวิตของเด็ก
– ปรับปรุงสุขอนามัยของแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
– ยับยั้งเอชไอวี/เอดส์ ไข้มาลาเรีย และโรคอื่นๆ
– ประกันความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม
– พัฒนาความร่วมมือระหว่างพันธมิตรเพื่อการพัฒนาทั่วโลก

ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มบนของ ‘ดัชนีการพัฒนามนุษย์ปานกลาง’ ที่ผ่านมา ไทยได้บรรลุเป้าหมายย่อยหลายข้อภายใต้แต่ละเป้าหมายใหญ่ของ MDGs อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้พัฒนาแนวคิดของ MDG ‘Plus’ ขึ้นมาภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ เพื่อเน้นความสำคัญของการเคลื่อนต่อไปข้างหน้าหลังจากบรรลุเป้าหมายย่อยที่กำหนดแล้ว ในส่วนนี้ เป้าหมายใหญ่เป็นตัวกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกควรยึดถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ไม่ว่าระดับการพัฒนาของประเทศจะเป็นเช่นไร นอกจากนี้ เป้าหมาย MDG ‘Plus’ เปิดโอกาสให้แต่ละประเทศสามารถแปลความหมายตามสภาพการณ์และบริบทเฉพาะ และเป็นการแสดงการรับรู้ว่าเป้าหมายแรกเป็นเป้าหมายพื้นฐานมากกว่าเป็นเพดาน ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่พิเคราะห์ยุทธศาสตร์ MDG ‘Plus’

Share this article Pin on PinterestTweet about this on TwitterShare on FacebookShare on Google+